top of page
Search

ลงพื้นที่ วษท.นครราชสีมา สำรวจและติดตามประเมินผลบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน


วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธานโครงการบริหารจัดการน้ำฯ มีความตั้งใจที่จะให้ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน ขนาด 20 x 20เมตร (1 งาน) เพื่อเป็นกรณีศึกษาความยากลำบากและอุปสรรคในการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินขนาดเล็ก


นายณัฏฐ์ พงศ์พูนสุขศรี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติงานของโครงการบริหารจัดการน้ำฯ จึงนำทีมเข้าพบ นางจันเพ็ญ วรวสุวัส รองผู้อำนวยการฯ คณะครูและนักศึกษา พูดคุยถึงวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่สำรวจหาความเหมาะสมในการขุดบ่อและสำรวจประสิทธิภาพของธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเก็บข้อมูล ติดตามประเมิลผลหลังการขุดบ่อ นางปรียา ธรรมนิยม ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและติดตามข้อมูล อธิบายถึงการเก็บข้อมูลลงในแบบฟอร์มติดตาม ประเมินผลหลังการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณการใช้น้ำก่อนหลัง



ทีมงานโครงการฯ ได้นำเครื่องมือธรณีฟิสิกส์มาทำการสำรวจชั้นดินและชั้นหินด้วยวิธีสำรวจความต้านทานไฟฟ้าจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าลงใต้ดิน บริเวณพื้นที่เลี้ยงกวางเพื่อหาความเหมาะสมในการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินขนาดเล็กและได้ข้อสรุปว่าเหมาะสมที่จะขุดบ่อขนาด 20 x 20ม. ความลึก 4เมตร และขุดสะดือบ่อลึกลงไปอีก 3 เมตร รวมเป็น 7 เมตร เพื่อถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บน้ำและเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น

 

จากการสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อติดตามประสิทธิภาพของธนาคารน้ำใต้ดิน ของ วษท.นครราชสีมา ที่ดำเนินการขุดเสร็จในปี 2564 พบว่าหลังการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิดมา 3 ปี ความต้านทานไฟฟ้าของชั้นดิน และชั้นหิน ในบริเวณใกล้เคียงกับธนาคารน้ำใต้ดิน มีค่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นดินในบริเวณนั้นเจอความชื้นหรือมีน้ำสะสมอยู่ใต้ดิน (เนื่องจากน้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าจึงแปรผันกับค่าความต้านทานไฟฟ้า) ตั้งแต่ช่วงความลึก 4 - 23 เมตร เมื่อเทียบกับการเจาะสำรวจชั้นดินก่อนการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งไม่เจอน้ำใต้ดินระดับตื้น แต่เจอชั้นดินที่มีความชื้นในช่วงความลึก 13 เมตรลงไป


ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดมีประสิทธิภาพในการเติมน้ำใต้ดินจริง แต่อย่างไรก็ตามทีมงานของโครงการฯ จะติดตามประเมินผลต่อไปในอนาคต

 
 
 

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page